“เครือข่ายแห่งการเรียนรู้ แก้ปัญหาสาธารณะของตำบลโดยชุมชน เพื่อชุมชน”

การรวมกลุ่มของชาวลำสินธุ์ช่วงแรกเริ่มต้นในลักษณะของกลุ่มย่อยที่กระจายอยู่ทั่วไปในตำบล โดยมุ่งเน้นไปยังการพัฒนาด้วยการส่งเสริมให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันทำงาน แต่ขาดพื้นฐานการจัดการที่ดี ต่างกลุ่มจึงต่างทำกิจกรรมในส่วนของตนโดยไม่มีการผสานกัน และบางกลุ่มก็ประสบปัญหาจนต้องล้มเลิกกลุ่มไปในที่สุด

สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ทำให้ทุกคนใน ต.ลำสินธุ์ เริ่มตระหนักและให้ความสำคัญต่อการบูรณาการทำงานร่วมกัน จึงทำให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทบทวนบทเรียนข้อผิดพลาดในการดำเนินงานของกลุ่มต่าง ๆ ที่มีอยู่เดิม พร้อมทั้งเข้าไปรื้อฟื้นสร้างกระบวนการหนุนเสริมให้กลุ่มที่มีอยู่นั้น เกิดความเข้มแข็งทั้งด้านหลักคิดของกลุ่ม และแนวทางการดำเนินงาน รวมถึงมีส่วนร่วมกับทางการในการก่อร่างสร้างกลุ่มใหม่

ด้วยรูปแบบการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้นี้เองที่ได้นำไปสู่การพัฒนากลุ่มเป็นเครือข่าย เมื่อ ปี 2544 โดยใช้ชื่อว่า “เครือข่ายสินธุ์แพรทอง” ซึ่งเป็นแกนกลางในการขับเคลื่อนกิจกรรมในตำบลและเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาตำบลอย่างเป็นรูปธรรมในเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยหัวใจหลักคือการร่วมกันแก้ปัญหาสาธารณะของตำบลโดยชุมชน เพื่อชุมชน และอาศัยการมีส่วนร่วมขององค์กรในชุมชนเป็นแกนหลักของการขับเคลื่อนนั่นเอง

วิสัยทัศน์

คนมีคุณภาพ มีคุณธรรม ชุมชนแห่งการเรียนรู้ตามเศรษฐกิจพอเพียง

เป้าหมาย

ชุมชนเข้มแข็ง ครอบครัวอบอุ่น สังคมตำบลน่าอยู่ 

วัตถุประสงค์

เพื่อแก้ไขปัญหาสาธารณะของภายในชุมชน โดยชุมชน ด้วยการกำหนดพื้นที่ระดับตำบลเป็นตัวตั้ง และใช้องค์กรชุมชนเป็นแกนในการขับเคลื่อนงาน

พันธกิจ

  1. ทุกภาคส่วนร่วมกันพัฒนา หนุนเสริม การทำงานแบบบูรณาการ
  2. หนุนเสริมให้เกิดการพัฒนาระดับคุณธรรมจริยธรรมของชุมชน  
  3. หนุนเสริมการยกระดับความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินของชุมชน 
  4. หนุนเสริมให้เกิดการจัดการองค์ความรู้ที่มีอยู่ในชุมชนอย่างเป็นระบบ

แนวทางการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้เครือข่ายสินธุ์แพรทอง

ปี 2545

ได้พัฒนายกระดับการทำงาน โดยบูรณาการการทำงานกับ ศูนย์ประสานงานองค์กรชุมชน (ศอชต.) ที่มีสำนักงานพัฒนาชุมชน สนับสนุน และมีการประชุมติดตามความคืบหน้าของงานทุก ๆ วันที่ 9 ของเดือน

ปี 2548

จดทะเบียนเป็น องค์กรสาธารณะประโยชน์ กับ กระทรวงพัฒนาสังคมละความมั่นคงของมนุษย์ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพของคนเป็นหลัก

ปี 2550

เครือข่ายสินธุ์แพรทอง ร่วมกับภาคีพัฒนายกระดับตนเองเป็น ศูนย์เรียนรู้ชุมชนเครือข่ายสินธุ์แพรทอง โดยเน้นการพัฒนาคนและการจัดการองค์ความรู้เป็นหลัก

เข้าร่วม โครงการรักษ์ป่าสร้างคน 84 ตำบลวิถีพอเพียง และขับเคลื่อนงานผ่าน 7 แผนยุทธศาสตร์ โดยเพิ่ม แผนยุทธศาสตร์การเรียนรู้ด้านพลังงาน เข้าไปอีก 1 แผน จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 6 แผน

ปี 2556

เครือข่ายสินธุ์แพรทอง จัดทำแผนยุทธศาสตร์ ระยะที่ 4

ปี 2556 – 2560

ขับเคลื่อนงานผ่าน 4 แผนยุทธศาสตร์ โดยมุ่งเน้นประเด็น พลังงานทดแทน

ปี 2558

เครือข่ายสินธุ์แพรทอง ร่วมกับภาคี ยกระดับการเรียนรู้ไปสู่ หลักสูตรการเรียนรู้ 5 ห้องเรียน ได้แก่

  1. ห้องเรียนพลังงานทดแทน
  2. ห้องเรียนชุมชนวิถีพอเพียง
  3. ห้องเรียนชุมชนจัดการตนเอง
  4. ห้องเรียนวิสาหกิจชุมชน
  5. ห้องเรียนการท่องเที่ยวชุมชน

ปี 2560 – 2563

พัฒนาผู้นำเป็นผู้ประกอบการทางสังคม