การ “เผาลงถังแดง” คือ การที่เจ้าหน้าที่รัฐจับคนซึ่งต้องสงสัยว่าเป็น “คอมมิวนิสต์” สมรู้ร่วมคิด หรือให้ความช่วยเหลือ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พทค.) มาสอบสวนและสังหาร ด้วยวิธีการ คือ ตีให้สลบก่อน จากนั้นจะนำร่างไปใส่ในถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร ราดน้ำมัน (ส่วนใหญ่ถังน้ำมันชนิดนี้มี สีแดง ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า เผาลงถังแดง) แล้วจุดไฟเผา

เหยื่อบางรายเสียชีวิตก่อนแล้วจึงเผา แต่บางคนเพียงแค่สลบไปเท่านั้น เมื่อฟื้นขึ้นมาขณะไฟกำลังลุก จึงส่งเสียงกรีดร้องโหยหวน ด้วยความเจ็บปวด ทำให้เจ้าหน้าที่ (ทหาร) ต้องสตาร์ทรถ GMC แล้วเหยียบคันเร่ง ให้เสียงเครื่องยนต์ดังกลบเสียงร้อง หลังจากนั้นจึงนำร่างซึ่งเหลืแเพียงเถ้าถ่าน เททิ้งลงคลองด้านข้างค่ายทหาร

ทหารร่วมปฏิบัติการคนหนึ่งได้ให้สัมภาษณ์ทาง รายการย้อนรอย ของสถานีโทรทัศน์ ITV ว่า “ถังแดง คือ ถังน้ำมัน 200 ลิตร ไว้สำหรับเผาคน ใส่น้ำมันไว้ข้างใน เวลาเอาคนตายแล้วมาเผาในถังนี้ เป็นที่แคบ ไม่ต้องใช้พื้นที่กว้าง ๆ ทำตรงไหนก็ได้ ถังแค่ใบสองใบ เผาได้เป็นร้อย ๆ คนแล้ว ที่ยังไม่ตายก็มี ไม่มีกลิ่น เพราะกลิ่นน้ำมันมันกลบกลิ่นศพ บางคนถูกฆ่าโดยไม่ได้สอบสวน”

จากหลักฐานที่ปรากฏในพื้นที่ชุมชนลำสินธุ์ และจากคำบอกเล่าของชาวบ้านบางคน การปราบปรามด้วยวิธีดังกล่าว เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2514 ภายหลังการตั้งค่ายทหารชั่วคราวอย่างเป็นทางการ ต่อมาวิธีสังหารประชาชนเช่นนี้ค่อย ๆ หมดไป หลังจากชัยชนะของนักศึกษาประชาชน เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 เนื่องจากนักศึกษาเข้ามาเคลื่อนไหวในต่างจังหวัดมากขึ้น บวกกับกระแสประชาธิปไตยที่กำลังเบ่งบาน ทำให้ยุทธวิธีในการปราบเปลี่ยนรูปแบบจากเผามาเป็นยิง เพราะการยิงไม่ต้องใช้ต้นทุนมาก และใช้เวลาสั้นกว่าการเผา แม้จะทิ้งร่องรอยเอาไว้บ้างก็ตาม

กระนั้นเหตุการณ์ถังแดงในช่วงปี 2514-2515 ยังไม่ถูกรับรู้จากคนภายนอก เพราะเกิดในชนบทที่ห่างไกล สื่อเข้าไม่ถึง และยังเป็นเขตเคลื่อนไหวของ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พทค.) อยู่ในหุบเขา ทำให้เรื่องราวถังแดงกลายเป็นเพียงความเงียบของผู้คนและชุมชนแถบนี้ในตอนนั้น

อาจกล่าวได้ว่า ในหลายตำบลของ จ.พัทลุง ผู้เสียชีวิตจากกรณีถังแดง มี 2 กลุ่มใหญ่

กลุ่มแรก คือ คนที่เกี่ยวข้อง รู้จัก หรือเป็นญาติพี่น้องของผู้ที่ตัดสินใจเข้าป่าไปร่วมกับ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พทค.) จะถูกจับไปไต่สวนเพื่อสืบหาที่อยู่ของญาติที่เข้าป่า

กลุ่มที่ 2 อยู่ในบัญชีรายชื่อที่ทางราชการ ได้มาจาก สายข่าว แต่คนในกลุ่มนี้มีปัญหาเรื่องความถูกต้องอยู่ 2 ประการ หนึ่ง คือ ชื่อที่ได้มาอาจจะมีทั้งคนที่เข้าป่าเป็นคอมมิวนิสต์จริง และคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ โดนการกลั่นแกล้ง จากความขัดแย้งส่วนตัวกับเจ้าหน้าที่รัฐ

ปัญหาที่ 2 คือ รายชื่อซ้ำกัน หรือออกเสียงคล้าย ๆ กัน หรือมีชื่อเดียวกันแต่คนละนามสกุล ก็จะถูกจับกุมแบบเหวี่ยงแหมาหมด เช่น ชื่อ วิน ไข่ เป็นต้น รวมทั้งคนที่มีนามสกุลเดียวกันก็ถูกกวาดจับมาหมดด้วย ดังนั้นคนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคอมมิวนิสต์แต่เผอิญชื่อซ้ำหรือนามสกุลเหมือนกันก็กลายเป็นเหยื่อได้

ดังนั้น จึงอาจพูดได้ว่า คนที่ถูกสังหารโดนการเผาลงถังแดง มีผู้บริสุทธิ์รวมอยู่ มากกว่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมาย หรือผู้กระทำผิดแท้จริง

อุทยานประวัติศาสตร์ถังแดง

ปี 2538 ชุมชนได้ร่วมกันสร้าง อุทยานประวัติศาตร์ถังแดง ขึ้น ณ สถานที่จริง บริเวณที่เคยเป็นค่ายทหาร เพื่อรำลึกเหตุการณ์ถังแดง ให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ หลีกเลี่ยงความรุนแรงอันเกิดจากความขัดแย้งทางความคิด ความเชื่อที่แตกต่างกัน และมีการจัดงานรำลึกทุก ๆ ปี

เรียนรู้เรื่อง “ถังแดง” เพิ่มเติม คลิก
https://annop.me/tag/redviolet

สารคดี “หยดน้ำตาแห่งลำสินธุ์”