ชุมชนลำสินธุ์ ตั้งอยู่เขตพื้นที่แนวเทือกเขาบรรทัด อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ กล่าวคือ ดินมีความอุดมสมบูรณ์สามารถปลูกพืชอะไรก็เจริญงอกงาม มีผืนป่าธรรมชาติที่สวยงามอุดมสมบูรณ์หลากหลาย มีสายน้ำลำธาร เป็นแหล่งน้ำตกที่สวยงาม มีบ่อน้ำพุร้อน  ถ้ำที่สวยงามหลากหลายไปด้วยหินงอกหินย้อย ชุมชนต่าง ๆ ในพื้นที่ ต.ลำสินธุ์ ตั้งถิ่นฐานมายาวนานไม่น้อยกว่า 300 ปี มีประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ มีอุดมการณ์ทางการเมือง และเป็นชุมชนพัฒนาตัวอย่าง ในหลากหมายเรื่องไม่ว่าจะเป็น ตัวอย่างครอบครัวต้นแบบ ตัวอย่างแปลงไม้ผลต้นแบบ ตัวอย่างกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบ

ด้วยอุปนิสัยใจคออัธยาศัยมิตรไมตรีที่ดีและอบอุ่น องค์ประกอบเหล่านี้ล้วนเป็นต้นทุนทางธรรมชาติและสังคมที่มีศักยภาพต่อการพัฒนา การจัดการตนเองของชุมชนลำสินธุ์

ต.ลำสินธุ์ ตั้งอยู่ใน อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง มี 9 หมู่บ้าน เนื้อที่ทั้งหมด 36,209 ไร่ จำนวนประชากร 5,791 คน (ชาย 2,997 คน หญิง 2,994 คน) ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ ทำสวนยางพารา  ทำสวนผลไม้  ทำนา  เลี้ยงสัตว์ และ รับจ้าง

ชุมชนลำสินธุ์ มีประวิติศาสตร์ชุมชนที่ยาวนาน มีเรื่องราวต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยชุมชนได้มีการแบ่งช่วงเวลาของเรื่องราวออกเป็น 6 ยุค

ยุคที่ 1 ยุคตั้งถิ่นฐานบ้านเกิด

  • ปี 2230 ชาวบ้านเข้ามาจับจองที่ทำกิน และปลูกสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยบริเวณสายน้ำลำคลอง การสัญจรโดยทางเรือพายและแพไม้ไผ่ เป็นยุคที่ชุมชนพร้อมไปด้วยทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ ทั้ง ป่าไม้ น้ำ อาหาร ดินที่เหมาะในการทำเกษตร 
  • ปี 2418 ชาวบ้านต่างร่วมกันสร้าง วัดหมวย ซึ่งปัจุบัน คือ วัดเกษตรนิคม
  • ปี 2471 เกิด วิกฤตการณ์น้ำท่วม ชาวบ้านเรียกปีมะโรงน้ำแดง ชาวบ้านต้องย้ายบ้านเรือนขึ้นไปอยู่บนดอนหรือพื้นที่ที่สูง หลังจากน้ำลดก็เกิด โรคระบาด ขึ้นในหมู่บ้าน ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก
  • ปี 2475 ร่วมกันสร้างโรงเรียนวัดเกษตรนิคม
  • ปี พ.ศ.2482 ร่วมกันสร้าง วัดบ้านโตน ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติทำให้คนอยู่ดีกินดี  มีเงินทองเหลือเก็บ
  • ปี 2507-2508  มีโจรผู้ร้าย เข้ามาปล้นทรัพสินเงินทองของชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านร่วมกันต่อสู่กับโจรผู้ร้าย

ยุคที่ 2 ยุคงึมครึมทางการเมือง

  • ปี 2509 สืบเนื่องจากชาวบ้านรวมตัวกันต่อสู้กับโจร เจ้าหน้าที่ของรัฐหวาดระแวงสงสัยว่ามีการขวักไขว่การกระทำอันเป็นคอมมิวนิตส์ จึงมีทหารตำรวจเข้ามาในพื้นที่ ทำการจับกุมบุคคลผู้ต้องสงสัยไปฆ่าในข้อหาอันทพาล โดยไม่ได้ส่งฟ้องศาล
  • ปี 2510 รัฐบาลทำสงครามเย็น กับ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ใช้สื่อโฆษณา พวกคอมมิวนิสต์เอาคนแก่ทำปุ๋ย ใช้คนไถนาแทนวัวควาย คอมมิวนิสต์สูบเลือดคน ชาวบ้านเลยไม่กล้าทำมาหากินโดยลำพัง ต้องลงแขกกันทำงาน ตอนเย็นกินอาหารร่วมกัน มีการพูดคุย และรำวงรอบกองไฟ
  • ปี 2513 ทหารเข้ามาตั้งฐานปฏิบัติการระดับกองพันที่ บ้านเกาะหลุง เพื่อกวาดล้าง จับกุมบุคคลที่ต้องสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์ มาสอบสวน มีการซ้อม ทารุณร่างกายจนหมดสติ แล้วจับยัดลงในถังน้ำมัน 200 ลิตร จุดไฟเผาเพื่อทำลายหลักฐาน เป็นที่มาของคำว่า “เผาลงถังแดง” คนเริ่มหนีออกจากบ้าน

ยุคที่ 3 ยุคบ้านแตก

  • ปี 2514 พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ตั้งศูนย์การนำของภาคใต้ได้สำเร็จ โดยตั้งค่ายถาวรขึ้นครั้งแรกที่ บ้านเขาแก้ว ปฏิบัติการโฆษณาโจมตีการทำงานของรัฐ  ทำให้ประชาชนเลื่อมใส เชื่อมั่นต่อแนวทาง จึงมีผู้ตัดสินใจเข้าร่วมกระบวนการอย่างล้นหลาม
  • ปี 2515 พรรคคอมมิวนิสต์ ใช้กำลังซุ่มโจมตี ทหาร ตำรวจ เพื่อแย่งชิงอาวุธมาติดให้กับกองกำลังของตนเอง พร้อมประกาศคำขวัญ “อำนาจรัฐเกิดจากปากกระบอกปืน” ใช้กลยุทธ์ ป่าล้อมเมือง มวลชนเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็ก ขยายเขตพื้นที่สู้รบ
  • ปี 2516 เกิดเหตุกาณ์ 14 ตุลาคม นักเรียน นักศึกษา ผู้รักประชาธิปไตย ลุกขึ้นมาเรียกร้องความเป็นธรรม ถูกทหารรัฐบาลปราบปราม จับกุม และถูกฆ่าตาย นักศึกษาหนีตาย “เข้าป่า” ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ ส่งผลให้พรรคคอมมิวนิสต์ขยายฐานมวลชนสร้างค่ายถาวรขึ้นตลอดแนวเทือกเขาบรรทัด
อุทยานประวิติศาสตร์ถังแดง

ยุคที่ 4 ยุคใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาความขัดแย้ง

  • ปี 2517 พรรคคอมมิวนิสต์ ตั้งค่ายระดับกองพันเขตรอยต่อ 3 จังหวัด พัทลุง ตรัง สงขลา  ประกอบด้วย หน่วยทหารสู้รบสองกองร้อย เปิดโรงเรียนการเมืองการทหาร โรงเรียนพยาบาล โรงผลิตอาวุธ โรงพิมพ์ โรงตัดเย็บเสื้อผ้า โรงไฟฟ้าพลังน้ำ เปิดฉากสู้รบทหารรัฐบาลอย่างหนักหน่วง
  • ปี 2518 ทหารรัฐบาล ตอบโต้คอมมิวนิสต์แบบเหวี่ยงแห โดยการ ฆ่าเรียบ เผาเรียบ ประกาศกฎอัยการศึก ใช้กองกำลังทหาร รถหุ้มเกราะออกกลาดตระเวณ ใช้ปืนใหญ่ ปืนกล เครื่องบินยิงกราด ทิ้งระเบิดถล่มพื้นที่เป้าหมาย ชาวบ้านหนีตายหัวซุกหัวซุน ส่วนพรรคคอมมิวนิสต์ ตอบโต้ด้วยการสู้รบแบบกองโจร
  • ปี 2519 เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม นักศึกษาถูกล้อมฆ่าตายกลางกรุง รอบที่สอง ทำให้นักศึกษาหนีตายเข้าร่วมกับ พรรคคอมมิวนิสต์ อย่างล้นหลาม
  • ปี 2520-2522 พรรคคอมมิวนิสต์ ขยายแนวรบรอบด้านการสู้รบเหิมเกริมและรุนแรงยิ่งขึ้น

ยุคที่ 5 ยุคท้องฟ้าแจ่มใส

  • ปี 2518 พลเอกกฤษณ์ สีวะรา สั่งถอนทหาร ค่ายเกาะหลุง เนื่องจากถูกร้องเรียน
  • ปี 2521-2522 รัฐบาลทบทวนกลยุทธ์การต่อสู้เอาชนะ พรรคคอมมิวนิสต์ เดิม ฆ่าเรียบ  เผาเรียบ
  • ปี 2523 รัฐบาลประกาศใช้นโยบาย 66/23 ใช้การเมืองนำการทหาร สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ วางอาวุธมอบตัวต่อรัฐบาล โดยไม่มีความผิด พร้อมหาที่ทำมาหากินให้ คนละ 10 ไร่
  • ปี 2523-2531 สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ทยอยออกจากป่า เข้ามอบตัว กลับมาในฐานะ ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย 
  • ปี 2524 รัฐบาลไทย ไปเยือนประเทศจีน เพื่อเจรจาหยุดการสนับสนุน พรรคคอมมิวนิสต์
  • ปี 2532-2533 ทหารรัฐบาล กับ พรรคคอมมิวนิสต์ มีการเจรจา เพื่อยุติการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ
  • ปี 2534 การเจรจาทั้งสองฝ่ายมีข้อตกลงร่วม คือ รัฐบาลยอมอำนวยความสะดวกให้นำกระดูกวีระชนที่เสียชีวิตระหว่างการต่อสู้ มาทำพิธีทางศาสนาและนำเข้าบัวที่ วัดไม้เสียบ คนที่เข้าป่ายอมมอบตัว พร้อมอาวุธให้แก่รัฐบาล แสดงนัยสำคัญว่าการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์ที่ยาวนานไม่น้อยกว่า 30 ปี ได้ยุติลงอย่างถาวร

ยุคที่ 6

  • ปี 2535-2536 รัฐประสานรอยร้าวด้วยการจัดตั้งกลุ่มองค์กรชุมชน ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยให้ความร่วมมืออยู่เบื้องหลังการจัดตั้งกลุ่ม
  • ปี 2537 ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ร่วมกับญาติผู้เสียชีวิตกรณีถังแดง จัดงานถังแดงรำลึก ครั้งที่ 1 มีประชาชนร่วมงานจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม การจัดงานครั้งนี้ถูกจับตามองจากภาครัฐเป็นพิเศษ
  • ปี 2538 เกิดการระดมทุนเพื่อซื้อที่ดินก่อสร้าง อุทยานประวัติศาสตร์ถังแดง ณ บริเวณสถานที่เกิดเหตุการณ์จริง
  • ปี 2540 รัฐประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยร่วมกับญาติผู้เสียชีวิต จัดงานถังแดงรำลึก ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2540 จากนั้นทุกวันที่ 10 เมษายน ของทุกปี มีการจัดงานถังแดงรำลึก
  • ปี 2543 เกิดวิกฤตกลุ่มองค์กรขาดความรู้ต่อการบริหารจัดการกลุ่มองค์ กลุ่มขาดสภาพคล่องทางการเงิน ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยร่วมผลักดันให้เกิดเครือข่ายการเรียนรู้ระดับพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาสาธารณะ
  • ปี 2544 ความร่วมมือเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็งแบบธรรมชาติและยั่งยืน โดยใช้พื้นที่ระดับตำบลเป็นตัวตั้ง ใช้องค์กรชุมชนเป็นแกนในขับเคลื่อน เกิดการรวมตัวกันของกลุ่มองค์กรภายในตำบลในนาม “เครือข่ายสินธุ์แพรทอง”
  • ปี 2546 ระดมความคิดเห็นเพื่อให้ได้ซึ่งแบบแปลนอาคาร อุทยานประวัติศาสตร์ถังแดง
  • ปี 2547 ระดมทุนเพื่อก่อสร้าง อุทยานประวัติศาตร์ถังแดง
  • ปี 2548 วางศิลาฤกษ์ก่อสร้างอุทยานประวัติศาตร์ถังแดง โดย พระเทพปริยัติเมธี