“โต๊ะ” ทั้งหมดที่มีภายในศูนย์การเรียนรู้ฯ เริ่มมาจากที่เจ้าของบ้าน อุทัย บุญดำ (พ่อเล็ก) และ อุษาวดี บุญดำ (แม่สร้อย) เป็นคนที่ชื่นชอบ “ไม้” สะสมไม้มากว่า 10 ปี ไม้ที่สะสมได้มาจากการเดินทางท่องเที่ยว เจอไม้โค่น ล้มขอนนอนไพร ไม้ที่คนนำมาขาย ก็จะเก็บหรือซื้อมา มีทั้งไม้ยาง ไม้เทียม ไม้หลุมพอ ไม้ทำเสา จากนั้นได้นำไม้ที่สะสมมาทั้งหมด เป็นวัสดุในการสร้างศูนย์การเรียนรู้ฯ ในขณะนั้นมีแรงงานผู้ลงมือสร้างเพียง 3 คนเท่านั้น

ในตอนแรกที่ตรงนี่เคยเป็นร้านกาแฟที่มีโต๊ะไม้ที่ยาวที่สุดในพัทลุงเลยก็ว่าได้ 

โต๊ะไม้ชุดแรก ได้มาจาก เมื่อครั้งหนึ่งมีคนขนไม้ผ่านมาหน้าบ้านแล้วถามว่า จะเอาโต๊ะไม้ไหม พ่อเล็ก และ แม่สร้อย ซึ่งชอบไม้อยู่แล้วก็เลยรับซื้อไว้

โต๊ะไม้ชุดที่ 2 ได้มาจากความสัมพันธ์ที่น่าประทับใจจากแขกผู้ที่มาเข้าอบรมที่ศูนย์การเรียนรู้ฯ เวลานั้นการอบรมมีระยะเวลา 5 วัน 4 คืน มีสตรีผู้เข้าร่วมท่านหนึ่งเป็นมุสลิม ชื่อ ก๊ะส้อ ซึ่งเพิ่งจะกลับมาจากเมืองมักกะฮ์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย แต่งตัวมิดชิด ปิดหน้า ปิดตา ทำให้ผู้เข้าร่วมอบรมท่านอื่น ๆ ไม่กล้าเข้าหา

แม่สร้อย ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ก๊ะส้อ จึงรู้ว่า ก๊ะส้อ มีลูก 9 คน อายุ 49 ปี เท่ากันกับ แม่สร้อย ทำให้ ก๊ะส้อ เลยรู้สึกประทับใจมากที่แม่สร้อยเป็นกันเอง ยอมรับเขาเป็นเพื่อน ไม่ถือตัว ไม่เหมือนคนอื่น ๆ ก๊ะส้อบอกว่า ไปมาหลายที่ แต่ไม่มีที่ไหนที่น่าประทับใจเท่าที่นี่เลย

ก๊ะส้อ อยากตอบแทนน้ำใจ แต่ไม่มีอะไรจะให้ ครอบครัวก๊ะส้อค่อนข้างลำบาก ต้องเลี้ยงดูลูกถึง 9 คน แต่ ก๊ะส้อ บอกว่ามีไม้จะให้ ให้พ่อเล็กกับแม่สร้อยไปเอาที่ เขื่อนหัวข้าง บ้านของก๊ะส้อ

หลังจากนั้น 2 สัปดาห์ แม่สร้อยชวนพ่อเล็กไปดูไม้ที่บ้านบังโสบ (สามีของก๊ะส้อ) ไปถึงก็เห็นไม้วางอยู่ 5 แผ่น ด้วยความเกรงใจแม่สร้อยเลยเอามาแค่ 2 แผ่น ก๊ะส้อไม่คิดเงิน แต่แม่สร้อยวางเงินไว้ โดยไม่บอกก๊ะส้อ และนำไม้กลับมาที่บ้าน

เป็นเวลา 3 ปี ที่แผ่น 2 แผ่นนั้นว่งอยู่เฉย ๆ ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร

อยู่มาวันหนึ่ง มีกิจกรรมอบรมที่ศูนย์การเรียนรู้ฯ ผู้เข้าอบรมชื่อ ปลื้ม จันทุง หรือ ลุงปลื้ม เป็นผู้ที่ชื่นชอบไม้เหมือนกัน จึงอาสารับจ้างนำไม้ 2 แผ่นที่เก็บไว้นาน 3 ปี ไปทำเป็นโต๊ะไม้ ในราคาชุดละ 10,000 บาท จำนวน 2 ชุด และยังให้โต๊ะไม้อีกชุดด้วย