แต่เดิม อุทัย บุญดำ (พ่อเล็ก) และ อุษาวดี บุญดำ (แม่สร้อย) ประกอบอาชีพรับซื้อไม้ ไม้เกรดดีจะส่งไปกรุงเทพฯ ด้วยรถ 6 ล้อ ปลายไม้จะส่งให้คนก่อสร้างสะพาน ส่วนตอไม้ กิ่งไม้ จะนำมาเผาถ่าน โดยได้เช่า เตาเผาถ่าน 2 เตา ใช้ระยะเวลาในการเผาถ่านปริมาน 12 รถ 6 ล้อ เป็นเวลา 12 วัน ได้ปริมาณถ่าน 280-300 กระสอบปาน
หลังจากนั้นประมาณ 1 ปี พ่อเล็กแม่สร้อย ได้ซื้อที่ดินที่ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของ ศูนย์การเรียนรู้เครือข่ายสินธุ์แพรทอง
ในปี 2545 พ่อเล็ก ก็เลิกอาชีพทำไม้ เนื่องเพราะในช่วงเวลาเดียวกันกับการจัดตั้งกลุ่ม จึงมีผู้คนไปมาหาสู่มากขึ้น บ้านที่ใช้เป็นสถานที่รับรองไม่อำนวย มีควันไฟจากการเผาถ่าน
เมื่อเลิกเผาถ่านแล้ว รถ 6 ล้อขนไม้ ก็เปลี่ยนเป็นรถไว้รับส่งแขก ส่วน เตาเผาถ่าน 2 เตา พ่อเล็กอยากเก็บไว้รำลึกนึกถึง เพราะอาชีพและรายได้ส่วนหนึ่งของชีวิตมาจากเตาถ่าน 2 เตานี้ จึงไม่ได้ทุบทิ้ง แต่ปรับปรุงใช้เป็นที่พัก ไว้รับรองผู้มาเยี่ยมเยือน ในปี 2549
เมื่อปรับปรุง เตาเผาถ่าน เป็นห้องพักเสร็จแล้ว มีปัญหาเรื่องเสียงก้อง จึงได้หาวิธีแก้ไขโดยนำเฟอร์นิเจอร์ไม้มาไว้ในห้องพักเพื่อลดการเสียงก้อง
ปี 2550 ได้มีแขกกลุ่มแรกเข้ามาพัก ห้องพักเตาเผาถ่าน และได้ใช้งานให้บริการเรื่อยมากว่า 10 ปี
ปัจจุบัน ห้องพักเตาเผาถ่าน มีอายุนานหลายสิบปี เริ่มทรุดโทรม เกิดกลิ่นอับ จึงได้ปิดห้องพักไป 1 ห้อง เหลือไว้เพียง 1 ห้อง เพราะยังมีผู้คนที่มาเยี่ยมเยือนอยากสัมผัสการนอนในเตาเผาถ่านอยู่เสมอ ๆ